กินตามเวลเนส จัดทำคู่มือฉบับนี้ขึ้นเพื่อให้ท่านที่สนใจในแนวทางอาหารธรรมชาติบำบัด

ตามหลักการเปลี่ยนอาหารให้เป็นยา โดย นพ.บุญชัย อิศราพิสิษฐ์ ในการดูแลสุขภาพ

ของท่านและคนที่ท่านรัก รวมถึงเพื่อให้ทุกท่านมีแนวทางที่จะสามารถต่อสู้กับกลุ่มโรค NCDs ได้สำเร็จ...

เพราะการใช้อาหารเป็นยาเป็นวิธีการที่ไม่มีผลข้างเคียงจากการรักษา (ถ้าใช้ยาที่สังเคราะห์จากสารเคมีมารักษา จะมีอันตรายจากยาได้ ) หากเราเข้าใจในหลักการของธรรมชาติสุขภาพของเราก็จะห่างไกลจากโรคร้าย ...

แนวทางการดูแลสุขภาพกลุ่มโรค NCDs

ตามหลักแนวทางเปลี่ยนอาหารให้เป็นยา ของ นพ.บุญชัย อิศราพิสิษฐ์

หลักการทำซีโร่โปรตีน

(Zero Protien)

การควบคุมสารอาหารในกลุ่มโปรตีนทุกประเภท จะมีส่วนช่วยลดค่าของเสียหรือค่า BUN ในร่างกายของเรา และไม่ทำให้ค่าของเสียในร่างกายเพิ่มขึ้นจากการทานอาหารประเภทโปรตีน

หลักการอาหาร 3 L

(Low Fat - Low Carb - Low Protien)

อาหาร 3 L เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพของทุกท่าน เป็นกลุ่มอาหารที่มี ความเป็นธรรมชาติสูง เหมาะสำหรับท่านที่กำลังควบคุมอาหารและเริ่มดูแลสุขภาพมากขึ้น

พฤติกรรมการรับประทานอาหารตามหลักธรรมชาติ

พฤติกรรมการรับประทานอาหารตามหลักธรรมชาติของชาวฮันซาถือเป็นต้นแบบของอาหารที่ผู้เขียนใช้ในการบำบัดกลุ่มโรค NCDs ให้กับตัวเอง แต่มีการประยุกต์เมนูของชาวฮันซา ที่ผู้เขียนไม่คุ้นเคย ให้มาเป็นเมนูที่อร่อย รับประทานได้ทุกมื้อ แต่ยังคงคุณสมบัติในการบำบัดกลุ่มโรค NCDs และเป็นอาหารอายุวัฒนะอีกด้วย ผู้เขียนเรียกรูปแบบอาหารแบบนี้ว่า เวลเนส ฟู้ด (Wellness Food)

การรับประทานอาหารรูปแบบของชาวฮันซา มีหลักการสำคัญ 4 ข้อ คือ

1. การรับประทานผักสด และผลไม้สดเป็นอาหารหลัก

เหตุผลของชาวฮันซาในการรับประทานผักสด และผลไม้สดเป็นอาหารหลัก เนื่องจากอยู่ในดินแดนที่ขาดแคลนเชื้อเพลิง...แต่ผลลัพธ์อันมหัศจรรย์ที่ชาวฮันซาได้รับคือ การคงความเป็นหนุ่มเป็นสาวได้นานกว่าชนชาติอื่นๆ ที่รับประทานอาหารปรุงสุกเป็นอาหารหลัก...ผลต่อเนื่องที่ตามมาจากการแก่ช้าก็คือ การมีอายุที่ยืนยาว และการไม่เจ็บป่วยตลอดชั่วชีวิต

ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า...สิ่งที่ผักสด และผลไม้สดแตกต่างจากเมนูที่ปรุงสุก เพราะมีสารสำคัญ 2 ชนิด ที่ไม่ถูกทำลาย


1.1 วิตามินซี (Vitamin C)

วิตามินซีจะถูกทำลายด้วยความร้อนได้ทั้งหมด ถ้าผักถูกปรุงสุก...ประโยชน์ที่วิตามินซีมีต่อสุขภาพของคนเรา คือ

  • เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง...ต่อต้านความเสื่อมของเซลล์ และอวัยวะต่างๆ...ทำให้แก่ช้า และอายุยืน


  • เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารยืดหยุ่น คือ คอลลาเจน และ อิลาสติน โดยเฉพาะที่ผิวหนัง...หลอดเลือด...ข้อต่างๆ และกระดูก...ทำให้คงความยืดหยุ่นของร่างกายไว้ได้นาน...ทำให้แก่ช้า และ อายุยืน


  • เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรค และต้านทานมะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูง...ทำให้ชาวฮันซาไม่เจ็บป่วย และไม่เป็นมะเร็ง

1.2 เอนไซม์ (Enzyme)

เอนไซม์เป็นสารประกอบโปรตีน...มีหน้าที่ในการควบคุมกระบวนการทางชีวะเคมีในร่างกายทุกขั้นตอน ในร่างกายคนเรามีเอนไซม์มากกว่า 2,700 ชนิด เพราะคนเรามีร่างกายที่ซับซ้อนกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ...การย่อยอาหาร...การดูดซึมอาหาร...การขจัดสารพิษในร่างกาย...การซ่อมแซมร่างกาย...การสร้างร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์...ต้องใช้เอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และเป็นตัวควบคุม...ถ้าขาดเอนไซม์ กระบวนการต่าง ๆ ที่กล่าวมาจะไม่สามารถดำเนินการได้


ในวัยเด็ก และวัยหนุ่มสาว ร่างกายเราจะสามารถสร้างเอนไซม์ไว้ใช้งานได้อย่างเพียงพอ...ไม่ต้องอาศัยเอนไซม์จากอาหาร...แต่เมื่อคนเราอายุเกินกว่า 25 ปี ร่างกายหยุดเจริญเติบโต การสร้างเอนไซม์ต่าง ๆ จะลดจำนวนลง...เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สภาวะแก่ และเสียชีวิตในที่สุด


ชาวฮันซาโชคดีที่ถูกฝึกให้รับประทานอาหารสดที่ไม่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนตั้งแต่วัยเด็ก...จึงได้รับประทานอาหารที่มีเอนไซม์สูงตลอดชีวิต...ทำให้การซ่อมแซมร่างกายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก...จึงทำให้เกิดภาวะความเป็นหนุ่มเป็นสาวนานกว่าชนชาติอื่น ๆ

ผู้เขียนให้คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการรับประทานผักสด และผลไม้สด เพื่อให้ได้ประโยชน์จากเอนไซม์สูงสุด ต้องมีข้อปฏิบัติดังนี้

  • ต้องทำให้ละเอียดก่อนกลืน

เหตุผลที่ต้องทำให้ผักและผลไม้ละเอียดก่อนการกลืน เพราะการดูดซึมเอนไซม์ ซึ่งเป็นสารประกอบโปรตีนมีความจำเพาะในการดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenum) เท่านั้น...ลำไส้ส่วนนี้สั้นมากมีความยาวเพียง 25 เซนติเมตร...ดังนั้น เอนไซม์ในผักผลไม้จะถูกดูดซึมได้ก็ต่อเมื่อผักและผลไม้ต้องถูกทำให้ละเอียดมากพอจนปลดปล่อยเอนไซม์ออกมา ชาวฮันซาเคี้ยวอาหารประเภทผักและผลไม้อย่างละเอียดก่อนการกลืน เพราะมีการดำเนินชีวิตที่ไม่เร่งรีบ...คนไทยเราปัจจุบันมีความเร่งรีบในการรับประทานอาหาร ไม่เคี้ยวให้ละเอียดมากพอ...เพื่อแก้ปัญหานี้ ผู้เขียนจึงปั่นผัก และผลไม้ให้ละเอียดจนสามารถปลดปล่อยเอนไซม์ออกมาให้ผู้ที่ต้องการฟื้นฟูสุขภาพได้รับประทานก่อนอาหารทุกมื้อ...ปริมาณผักสดและผลไม้ที่รับประทานในแต่ละวัน ควรมีสัดส่วนร้อยละ 50-70 ของปริมาณอาหารประจำวัน

  • ต้องรับประทานก่อนอาหารอื่น

เหตุผลที่ต้องรับประทานผักและผลไม้ก่อนอาหารอื่น ก็เพื่อการดูดซึมเอนไซม์จะทำได้สมบูรณ์กว่าการรับประทานหลังอาหารอื่น


  • ต้องรับประทานผัก และผลไม้หลากหลายชนิด

เหตุผลข้อนี้เกิดจากผักและผลไม้แต่ละชนิด มีเอนไซม์ไม่ครบถ้วนตามที่ร่างกายเราต้องการ...ผักและผลไม้แต่ละชนิดจะมีเอนไซม์แตกต่างกัน...ถ้าเรารับประทานหลากหลายชนิดจะทำให้ร่างกายได้รับชนิดของเอนไซม์ครบถ้วน

2. การรับประทานอาหารโปรตีนสูงถูกชนิด และปริมาณเหมาะสม

....ต้องนับเป็นความโชคดีของชาวฮันซาที่ตลอดชีวิตมีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องกับหลักธรรมชาติทุกเรื่อง แม้กระทั่งการรับประทานอาหารโปรตีนสูงก็ถูกต้องทั้งชนิด และมีปริมาณที่เหมาะสม...ซึ่งพบได้ยากในชนชาติอื่น ๆ

ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า...อาหารที่ให้โปรตีนสูง มีอยู่หลากหลายทั้งจากพืช และจากสัตว์...แต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะนำมาเป็นอาหารของคนเราแตกต่างกัน...มีทั้งที่เป็นโทษ และเป็นประโยชน์

ผู้เขียน แบ่งอาหารโปรตีนสูงออกเป็น 5 กลุ่ม

กลุ่ม 1 น้ำนมวัว และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากน้ำนมวัว

เป็นกลุ่มอาหารที่ให้โปรตีนสูงที่เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างมากในปัจจุบัน ถูกนำมาทำเป็นทั้งขนม...เครื่องดื่ม...อาหารหลากหลายชนิด...และที่เป็นปัญหาอย่างมากคือ วงการแพทย์แผนปัจจุบันยกย่องให้เป็นอาหารที่ให้โปรตีนที่ดีต่อคนเรา

แต่จากความรู้ในการใช้อาหารบำบัดโรคของผู้เขียน...พบว่าโปรตีนจากน้ำนมวัวแตกต่างจากโปรตีนในน้ำนมมนุษย์...โปรตีนในน้ำนมวัวเป็นโปรตีนเคซีน ซึ่งมีสายโมเลกุลยาวมาก ยากที่เอนไซม์ของคนเราจะย่อยได้อย่างสมบูรณ์ จึงเกิดการเน่าเสียในลำไส้เป็นเวลานาน เกิดสารพิษ สารก่อมะเร็งได้จำนวนมาก


โปรตีนในน้ำนมมนุษย์เป็นโปรตีนอัลบูมิน ซึ่งมีสายโมเลกุลสั้น และที่สำคัญคนเรามีเอนไซม์ที่ย่อยได้อย่างสมบูรณ์ จึงไม่เกิดสารพิษ และสารก่อมะเร็งเหมือนโปรตีนจากน้ำนมวัว


ในกลุ่มอาหารประเภทนม ชาวฮันซาโชคดีมากที่ไม่รับประทานนมวัว...แต่รับประทานนมแพะจามรี ซึ่งเป็นแพะภูเขาที่เลี้ยงไว้รับประทานนม ไม่รับประทานเนื้อ...โปรตีนจากนมแพะเป็นอัลบูมิน เหมือนกับน้ำนมมนุษย์...นับเป็นความโชคดีที่ชาวฮันซาได้รับอาหารในกลุ่มนี้ต่างจากชนชาติอื่นๆ

กลุ่ม 2 เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์

เป็นกลุ่มอาหารโปรตีนสูงที่ได้รับความนิยมรับประทานสูงสุดในทุกชนชาติ...ยกเว้นชาวฮันซา ในกลุ่มนี้ผู้เขียน แบ่งเป็นกลุ่มย่อย 2 กลุ่ม

กลุ่ม A สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม...ในกลุ่มนี้เป็นที่นิยมของคนไทยอย่างมาก ทั้งเนื้อหมู และเนื้อวัว...อันตรายจากโปรตีนของเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เกิดจากสายโมเลกุลโปรตีนยาวมาก...ย่อยยาก เน่านาน...นอกจากนั้นยังเป็นสัตว์สายพันธุ์ใกล้ชิดกับคนเรา จึงมีการติดต่อโรคถึงกันได้ง่าย และรวดเร็ว

กลุ่ม B สัตว์น้ำ และสัตว์ปีก...เช่น ปลา, กุ้ง, ปู, ไก่, เป็ด จะมีอันตรายน้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพราะสายพันธุ์ห่างกัน การติดต่อโรคเกิดได้ยากกว่า และเนื้อจะมีโมเลกุลโปรตีนสายสั้นกว่า ย่อยได้ง่ายกว่า จึงเกิดสารพิษน้อยกว่า

ในกลุ่มเนื้อสัตว์ ชาวฮันซาซึ่งนับถือศาสนาอิสลามเลี้ยงไก่ไว้กินไข่เป็นอาหาร...เมื่อไก่เสียชีวิต จึงจะนำเนื้อมารับประทาน ซึ่งไม่ได้รับประทานเป็นประจำ...จำนวนจึงไม่มากเกินไป

กลุ่ม 3 ไข่ต่างๆ

เป็นกลุ่มอาหารโปรตีนสูงที่คนทั่วโลกนิยมรับประทาน...คนไทยนิยมรับประทานทั้งไข่เป็ด...ไข่ไก่...ไข่นกกระทา

ข้อแนะนำในการรับประทานไข่ ควรรับประทานทั้งไข่ขาว และไข่แดง...ไม่ควรรับประทานแต่ไข่ขาว โดยเอาไข่แดงทิ้งเพราะความกลัวคอเลสเตอรอลในไข่แดง...เพราะถ้าเราดำเนินชีวิตถูกต้องตามหนังสือเล่มนี้ คอเลสเตอรอลในไข่แดง เมื่อเข้าสู่ร่างกายเราจะกลายเป็นไขมันดีคือ เอชดีแอลคอเลสเตอรอล ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย


ส่วนที่ให้โปรตีนในไข่คือ ส่วนของไข่ขาวเป็นโปรตีนที่ย่อยค่อนข้างง่าย

ในกลุ่มนี้ชาวฮันซารับประทานไข่ไก่ที่เลี้ยงไว้กินไข่ เป็นอาหารโปรตีนสูงที่ปลอดภัย

กลุ่ม 4 เห็ดต่างๆ

เป็นอาหารกลุ่มโปรตีนสูงที่เข้ามามีบทบาทในเมนูอาหารของคนไทยมากขึ้น...เพราะแต่เดิมมีเพียงเห็ดตามธรรมชาติ ซึ่งมีปริมาณน้อยมาก ในปัจจุบันมีการเพาะเห็ดจากฟาร์มเห็ด จึงมีปริมาณมากพอที่จะเข้ามาอยู่ในเมนูอาหารกลุ่มอาหารโปรตีนสูงที่มีความสำคัญในการเป็นโปรตีนปลอดภัย


ชาวฮันซาก็มีเมนูอาหารที่ทำจากเห็ดที่ขึ้นตามไหล่เขา เป็นอาหารกลุ่มโปรตีนสูงที่ปลอดภัยอีกกลุ่มหนึ่ง

กลุ่ม 5 ถั่วแกะเมล็ด, เมล็ดพืช และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่ว

ปัจจุบันอาหารโปรตีนสูงประเภทนี้เข้ามาอยู่ในเมนูอาหารของคนไทยมากขึ้น...ทั้งในรูปแบบของขนม...เครื่องดื่ม...อาหารคาว

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วมีความหลากหลายมาก ทั้งเต้าหู้ชนิดต่างๆ...โปรตีนเกษตรที่นิยมใส่ในอาหารเจ...ขนมชนิดต่างๆ ที่ทำมาจากส่วนประกอบของถั่ว

ชาวฮันซาได้รับโปรตีนจากถั่วหลากชนิด เป็นโปรตีนหลัก เป็นอาหารหลักของชาวฮันซา ควบคู่ไปกับการรับประทานผักสดและผลไม้สด

บทสรุปของการรับประทานอาหารโปรตีนสูงให้ถูกชนิด และปริมาณเหมาะสม

1.ควรงดรับประทานอาหารโปรตีนสูง ที่มาจากนมวัว และเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม...รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากอาหารโปรตีนสูงในกลุ่มนี้


2.อาหารโปรตีนสูงที่ปลอดภัย ควรรับประทานรวมกันต่อวันประมาณ 500 กรัม...ไม่ควรรับประทานเกินกว่า 500 กรัม ในผู้ที่อายุเกินกว่า 25 ปี เพราะร่างกายไม่ต้องใช้โปรตีนเพื่อการเจริญเติบโตแล้ว การใช้โปรตีนเพื่อซ่อมแซมร่างกายจะใช้ปริมาณ 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม...อาหารโปรตีนสูงตามที่กล่าวมา 500 กรัม จะให้โปรตีนประมาณ 50-75 กรัม ซึ่งพอเหมาะสำหรับคนไทย ที่มีน้ำหนักตัวประมาณ 50-70 กิโลกรัม...การรับประทานอาหารโปรตีนสูงมากไปจะทำให้ลำไส้-ตับ-ไต ทำงานหนัก เพราะถึงแม้จะเป็นกลุ่มโปรตีนปลอดภัย แต่ถ้ารับประทานมากเกินไป ก็จะเกิดโทษจากของเสียจำนวนที่มากเกินไปได้...โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะไตเสื่อม จะมีของเสียคั่งค้างในร่างกายจนเกิดอันตรายได้


3.ในผู้ที่มีภาวะต่อไปนี้ ควรลดการรับประทานอาหารโปรตีนสูงลง เหลือประมาณ 300 กรัม ต่อวัน (ในช่วงที่โรคมีอาการรุนแรง อาจใช้วิธีงดรับประทานไปเลย)

  • ผู้ป่วยมะเร็ง
  • ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้
  • ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง
  • ผู้ป่วยไตเสื่อม...(ผู้ป่วยไต ต้องรับประทานโปรตีนลดลงตามระดับความเสื่อมของไต ดูรายละเอียดได้จากข้อแนะนำการบำบัดโรคไตเสื่อม)

4.ในปัจจุบันนี้ มีผลิตภัณฑ์โปรตีนผงขายในท้องตลาดหลายชนิด...ควรใช้เฉพาะผู้ที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต เพราะต้องการโปรตีนมากเป็นพิเศษ และใช้ได้เฉพาะผู้ที่ไตทำงานได้ดี มีค่าเลือดไหลผ่านไต (eGFR) เกินกว่า 100 มิลลิลิตร/นาที/1.73m2

สำหรับผู้ที่มีอายุเกินกว่า 25 ปี ควรใช้โปรตีนเสริมด้วยความระมัดระวัง ควรตรวจวัดค่าเลือดไหลผ่านไต (eGFR) เป็นระยะๆ

3. การไม่รับประทานน้ำตาล

อันตรายจากการรับประทานน้ำตาล เป็นที่ยอมรับกันทุกประเทศทั่วโลก...อันตรายจากการรับประทานน้ำตาลเพิ่งจะได้รับการรณรงค์อย่างกว้างขวางในประเทศไทย ในช่วงที่ผู้เขียนเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบำบัดกลุ่มโรค NCDs ให้กับตัวเองเมื่อปี พ.ศ. 2553

สรุปผลเสียต่อสุขภาพจากการรับประทานน้ำตาล

  1. กระตุ้นให้เกิดภาวะเบาหวาน...ถ้าเป็นเบาหวานแล้วจะมีผลทำให้เกิดโรแทรกซ้อนตามมาต่ออวัยวะ ทั้งตา-ไต-หัวใจ-สมอง-หลอดเลือดและระบบประสาท
  2. ทำให้ตับสร้างไขมันร้าย ทั้งไตรกลีเซอไรด์และแอลดีแอล คอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น
  3. ทำให้ตับสร้างไขมันดี เอชดีแอลคอเลสเตอรอลลดลง
  4. ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว-ปริแตกง่าย-รวมทั้งนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูง
  5. ทำให้เลือดมีสภาวะเป็นกรด-ทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลง เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย-ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว


เหตุผลสำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนหายจากโรค NCDs ได้อย่างรวดเร็ว เพราะผู้เขียนหยุดรับประทานน้ำตาลอย่างเด็ดขาด...ทุกชนิดของน้ำตาล...ทั้งน้ำตาลจากโรงงานน้ำตาล-จากผลไม้สุก-ผลไม้หวาน-ขนมต่าง ๆเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทุกชนิด รวมทั้งงดรับประทานแป้งที่ย่อยสลายได้น้ำตาลในเวลาอันรวดเร็วด้วย


ชาวฮันซาโชคดีที่ในวิถีการดำเนินชีวิตห่างไกลจากน้ำตาลทุกรูปแบบ...จะได้รับบ้างก็เป็นน้ำตาลจากผลไม้...แป้งที่รับประทานก็เป็นธัญพืชที่ไม่ขัดขาว ทำให้การย่อยเกิดน้ำตาลเพียงเล็กน้อย

4. การไม่รับประทานไขมันทรานส์

โชคดีเป็นของชาวฮันซาอีกหนึ่งเรื่องที่ขาดแคลนเชื้อเพลิง...เลยทำให้เมนูหลักเป็นผักสดและผลไม้สด...ไม่มีเมนูทอดด้วยน้ำมัน...จึงไม่มีไขมันทรานส์เกิดขึ้นในอาหาร

การทอดอาหารด้วยน้ำมันที่เดือด...จะทำให้โมเลกุลของน้ำในอาหารแตกออกจากความร้อนสูงของน้ำมันที่เดือด...ธาตุไฮโดรเจนจากโมเลกุลของน้ำจะเข้าไปเกาะกับธาตุคาร์บอนที่มีช่องว่างตรงตำแหน่งที่ไม่อิ่มตัวของไขมันไม่อิ่มตัวที่นำมาทอดอาหาร..ทำให้โมเลกุลของไขมันเปลี่ยนเป็นไขมันที่ผิดจากธรรมชาติดั้งเดิม...เกิดเป็นไขมันทรานส์

สรุปโทษของไขมันทรานส์

  1. ทำให้ร่างกายต้องมาสร้างกระบวนการกำจัดไขมันทรานส์ออกจากร่างกาย เพราะไขมันทรานส์ ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายต้องขับทิ้ง...ทำให้ร่างกายอ่อนแอ...ภูมิคุ้มกันต่ำ...ก่อให้เกิดโรคต่างๆ โดยง่าย
  2. ทำให้ตับสร้างไขมันร้ายทั้งไตรกลีเซอไรด์ และแอลดีแอล คอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น
  3. ทำให้ตับสร้างไขมันดี เอชดีแอลคอเลสเตอรอลลดลง
  4. ทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ-หลอดเลือดอุดตันที่หัวใจและสมอง ได้ง่าย

ชาวฮันซาโชคดีที่ไม่มีอาหารเมนูทอดด้วยน้ำมัน จึงไม่ได้รับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์เลย...ทางออกของคนไทยที่ต้องการผัดหรือทอดอาหารแล้วไม่เกิดไขมันทรานส์ คือการใช้น้ำมันมะพร้าวสกัดร้อนในการผัดหรือทอดอาหาร...เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวสกัดร้อน เป็นไขมันอิ่มตัวที่ปลอดภัย จึงไม่เปลี่ยนเป็นไขมันทรานส์...ต่างจากน้ำมันไม่อิ่มตัวอื่น ๆ


พฤติกรรมการรับประทานอาหารของชาวฮันซาทั้ง 4 ประการตามที่กล่าวมา ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดียิ่งของชาวฮันซาที่ผู้เขียนได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง รวมทั้งพฤติกรรมการดำเนินชีวิตอีก 3 ประการที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น...ได้ช่วยให้ผู้เขียนกลับมามีสุขภาพดี บำบัดโรค NCDs ที่เป็นอยู่ถึง 6 โรค ให้หายไปภายในระยะเวลาเพียง 4 เดือน

เรียบเรียงโดย.. นพบุญชัย อิศราพิสิษฐ์

ข้อมูลจาก หนังสือคู่มือบำบัดโรค NCDs

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy