วัดความดันโลหิตเองที่บ้าน ทำอย่างไรกันนะ
ความดันโลหิต หมายถึง แรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือดแดง เป็นแรงดันเลือดที่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆทั่วร่างกาย
เวลาวัดความดันเราจะได้ค่าตัวเลขแบ่งเป็น 2 ค่า ค่าตัวบน/ค่าตัวล่าง
ตัวเลขค่าบน คือ การวัดค่าความดันเลือดในขณะที่หัวใจบีบตัว (Systolic Blood Pressure) มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรปรอท ค่าปกติคือ 90-140 mmHg
ตัวเลขค่าล่าง คือ การวัดค่าความดันเลือดในขณะที่หัวใจคลายตัว (Diastolic Blood Pressure) สำหรับค่าปกติคือ 60-90 mmHg
อาการความดันโลหิตสูง
อาการจะไม่จำเพราะเจาะจงบางรายอาจมีอาการปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ เวียนศีรษะ ซึ่งมักจะเป็นตอนตื่นนอนใหม่ๆ บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะตุบๆ แบบไมเกรน ส่วนในรายที่เป็นมานานๆ หรือมีความดันโลหิตสูงมากๆ อาจจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ ตามัว มือเท้าชา หรือมีเลือดกำเดาไหล ร่วมด้วย
ข้อควรปฏิบัติในขณะวัดความดัน
- นั่งพัก 3 5 นาที นั่งในท่าที่ปล่อยตัวตามสบาย หลังพิงพนัก วางเท้าทั้งสองข้างราบพื้น ไม่ไขว่ห้าง
- นั่งสูดลมหายใจเข้า ออกลึกๆ 2-3 ครั้ง อย่างช้าๆ
- วางแขนบนโต๊ะเรียบ พันผ้ารัดแขน (Arm Cuff) ให้อยู่ระดับเดียวกับหัวใจ และไม่เกร็งแขน
- งดดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- ไม่สูบบุหรี่ก่อนวัดความดันอย่างน้อย 30 นาที
- ไม่วัดในขณะที่กำลังโกรธ มีอารมโมโห หรือ ช่วงที่รู้สึกเหนื่อยหอบ
วัดความดันตัวเองตอนไหน ดี
แบ่งวัดความดันโลหิต 2 ช่วงเวลา
ช่วงเช้าหลังตื่นนอนและก่อนรับประทานยาลดความดันโลหิต
- หลังตื่นนอน เข้าห้องน้ำทำกิจวัตรประจำวัน เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย
ช่วงเย็นก่อนเข้านอน
- หลังอาหารเย็น 1- 2 ชั่วโมง
แนะนำวัดช่วงเวลาละ 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละประมาณ 2 - 5 นาที
วัดต่อเนื่องกัน 3-7 วันในหนึ่งเดือน และจดบันทึกไว้ นำบันทึกมาด้วยเมื่อต้องพบแพทย์ตามกำหนดเวลานัดหมายเพื่อเป็นการยืนยัน ค่าความดันโลหิตของผู้ป่วยเอง เพราะเราจะเคยได้ยินเรื่อง ความดันโลหิตสูงเทียม เปรียบเทียบความดันโลหิต ที่ผู้ป่วยวัดจากที่บ้าน และวัดที่โรงพยาบาล จะเห็นได้ว่าบางท่าน มีค่าความดันที่บ้านเป็นปกติตลอดระยะเวลาที่จดบันทึก แต่ขณะที่ทำการวัดที่โรงพยาบาล กลับได้ค่าความดันโลหิตที่สูงเกินกำหนดของทางโรงพยาบาล หากเราไม่มีค่าความดันจากการบันทึกมายื่นให้แพทย์ ตรวจสอบก็อาจจะได้ยาควบคุมความดันโลหิตเพิ่มเติมกลับไปทานต่อ .....